พิเคราะห์ให้ดีปัญหาหงส์นี้อยู่ที่เลข 8

“จริง ๆ แล้วปัญหาของหงส์แดง ณ ขณะนี้อยู่ตรงไหน” ดูเป็นคำถามที่ไม่ว่าจะเป็นแฟนหงส์แดงหรือไม่ใช่แฟนหงส์แดงต่างก็ตั้งข้อสงสัยและแสวงหาคำตอบ ปัญหาใหญ่ในการแสวงหาคำตอบครั้งนี้ก็คือ มันดูเหมือนกับว่าไม่มีอะไรชัดเจนสักอย่าง ไม่ได้มีปัญหาหลักใหญ่ ๆ เป็นก้อน ๆ

แต่พอจะมาเจาะดูปัญหายิบย่อย น้ำหนักก็ดูไม่มาก ฉะนั้นหากเอาคำถามนี้ไปจ่อปากแฟนบอลหงส์แดงหรือกูรูต่าง ๆ ผมเชื่อว่าคุณจะได้รับคำตอบที่หลากหลายมาก แต่หนึ่งในนั้น มันเป็นปัญหาเรื่องโครงสร้างของทีมที่กำลังเปลี่ยนไปอย่างชัดเจนแล้ว

หงส์แดงยังคงมีเจ้าของทีมเดิมคือกลุ่มแฟนเวย์กรุ๊ป และหากจะมองว่าพวกเขาไม่ลงทุน หรือไม่ทุ่มเทให้กับการพัฒนาทีมก็คงไม่ใช่ การได้ตัวดาร์วิน นูเญชมาในราคาระดับ 100 ล้านยูโร ก็เป็นสิ่งที่พอจะชี้ได้ว่าพวกเขายังคงแสดงความทะเยอทะยานอยู่ เรายังไม่นับว่าตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมาภายใต้การบริหารงานของกลุ่มทุนจากสหรัฐนั้น ทำให้สโมสรพัฒนาแบบก้าวกระโดดขนาดไหน

ในแง่ของการทำงานที่ผมมองว่ามีส่วนกับการทำงานกับทีมอย่างมากก็คือ เรื่อง เทคโนโลยีเบื้องหลังต่าง ๆ ที่ทีมของคลอปป์นำมาใช้เมื่อปีที่แล้วและต่อเนื่องมาจนถึงปีนี้สองเทคโนโลยี คือ นูโร 11 และ Zone 7 โดยเฉพาะเทคโนโลยีอย่างหลังที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์อาการเจ็บของนักเตะ เรียกว่าอาจจะเป็นเทคโนโลยีพยากรณ์อาการบาดเจ็บของนักเตะ

เทคโนโลยีนี้จะคำนวณล่วงหน้าว่านักเตะคนนี้มีโอกาสเจ็บมากน้อยขนาดไหน ควรหรือไม่ควรลงตัวจริง สิ่งที่เราเห็นในปีนี้ก็คือมีหลายครั้งที่คลอปป์ต้องเปลี่ยนแปลง ปรับตัวผู้เล่น 11 ตัวจริงกระชั้นชิด เนื่องจากมีคำแนะนำจากแพทย์มา คือไม่ได้บอกว่าเทคโนโลยีนี้ไม่ดี มันดีมากเพราะปีที่แล้วคล็อปป์ใช้มันในการบริหารงานนักเตะ ในการลุ้น 4 แชมป์ได้อย่างน่าทึ่ง

แต่ปัญหาที่ผมคิดว่าเป็นดาบสองคมคือ เพราะคุณเชื่อมั่นในเทคโนโลยีการพยากรณ์อาการบาดเจ็บ มันจึงทำให้เราเชื่อมั่นว่าจะบริหารและใช้งานนักเตะกลุ่มอายุเยอะและกลุ่มเปราะบางของทีมได้ดีเกินไปหรือไม่ นี่ไม่ใช่ข้อกล่าวหาเป็นเพียงข้อสังเกต เพราะสุดท้ายแล้วนักเตะแดนกลางเราที่อายุเยอะรวมถึงนักเตะหลายคนที่เล่นมาล้าตั้งแต่ปีก่อน กลับมีอาการบาดเจ็บอยู่

มันเริ่มมีการวิจารณ์การทำงานเบื้องหลังของคล็อปป์และทีมงานอยู่ว่า สุดท้ายแล้ว การนำเอาเทคโนโลยีเหล่านี้มาช่วย มันคือการช่วยไม่ให้นักเตะบาดเจ็บมากขึ้น หรือในแง่หนึ่งมันคือการขูดรีดใช้งานนักเตะ เค้นพลัง และใช้ร่างกายนักเตะแบบหนักหน่วงเกินไปหรือไม่นี่คงเป็นสิ่งท้าทายที่ต้องถกเถียงกันไปอีกนานในวงการวิทยาศาสตร์กีฬา

ผมคิดเรื่องนี้จริงจัง เพราะดูเหมือนว่ามันมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจในวินาทีสุดท้ายของคล็อปป์มากในการจัด 11 ตัวจริงหรือการส่งตัวสำรองลงเล่น ขอยกตัวอย่างในเกมล่าสุดเลย กรณีของนูเญช คล็อปป์ออกมาพูดว่าเขาได้รับ รายงานจากแพทย์ว่า เขามีอาการอาการปวดระบมกล้ามเนื้อหลังออกกำลังกายหนักตรงแฮมสตริง คล็อปป์บอกว่า

“เมื่อคุณได้รับข้อมูลแบบนี้จากทีมแพทย์ของคุณ มันทำให้คุณมีเวลาตัดสินใจเพียงแค่ไม่กี่นาทีว่าจะลงเล่นได้นานแค่ไหน กี่นาที หรือว่าไม่ให้เล่นเลย คือคุณจะไม่สามารถจับคนที่สามารถลงเล่นได้เพียงแค่ 20 นาทีหรือ 15 นาที ลงเป็นตัวจริงหรอก”

ปัญหาคือในท้ายที่สุดนูเญชก็ได้ลงอยู่ดีในนาทีที่ 89 ของเกม ที่แทบจะไม่ได้ช่วยอะไรทีมได้เลย มันอาจะถูกต้องก็ได้ เราไม่เถียง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่าข้อมูลจากแพทย์จากเทคโนโลยีพวกนี้มันมีอิทธิพลกับเกมในสนามจริง เราจึงมักจะเห็นว่าพักหลังการจัด 11 ตัวจริงของคล็อปป์มักจะคาดเดายากเสมอ

นับ8นับ1

เรื่องเทคโนโลยีที่เข้ามามีอิทธิพลกับทีมไม่ว่าจะมากเกินหรือน้อยเกินมันส่งผลแน่นอน ซึ่งผมมองว่ามันจะมีทั้งดีทั้งไม่ดีปะปนกันไป แต่อีกหนึ่งสิ่งในแง่ของโครงสร้างที่เรามองข้ามไม่ได้ก็คือ หงส์แดงกำลังอยู่ในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนผ่านจริง ๆ และมันจะไม่ใช่การเปลี่ยนผ่านที่เรียบง่ายเลย

โดยปกติทั่วไปการสร้างทีมหนึ่งขึ้นมาแล้วเล่นด้วยกันมักจะมีจุดพีคอยู่ที่ 4-5 ปี หากรวมเวลาระหว่างสร้างทีมอีก 2-3 ปี ก็ 6-7 ปีพอดี อาถรรพ์เลข 7 จึงไม่เกินเลย และยิ่งบวกกับการที่นักเตะตัวหลักของทีมในระยะเวลา 4-5 ปีที่พีค ๆ ของหงส์แดงนั้นแทบไม่มีการหมุนเวียนเลย ถูกรีดเค้นศักยภาพออกมาเต็มที่ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เมื่อแผ่วแล้วแผ่วพร้อมกันจึงไม่ใช่เรื่องแปลก

ผู้รักษาประตู อลิสซง, กองหลัง โรเบิร์ตสัน, ฟานไดจ์ค, อาร์โนล์ด, กองกลาง เฮนเดอร์สัน ฟาบิญโญ่ กองหน้า ซาลาห์ ฟีร์มิโน่ นี่คือ 8 นักเตะที่ร่วมหัวจมท้ายกับช่วงพีค ๆ ของหงส์แดงตั้งแต่ฤดูกาล 2018-2019 เป็นต้นมา โดยที่พวกเขาแทบจะไม่มีนักเตะมาซับพอร์ดตำแหน่งของพวกเขาได้เลย และนักเตะกลุ่มนี้ก็แผ่วด้วยกันทั้งกลุ่มในปีนี้

พูดแบบไม่เกรงใจก็คือ ทีมหงส์แดงไม่สามารถขับเคลื่อนด้วยนักเตะชุดนี้ได้อีกแล้ว เราจำเป็นต้อง “สร้างใหม่” โดยอาจจะมีนักเตะกลุ่มนี้เป็นแกนหลักอยู่บ้าง แต่ต้องไม่ใช่ทั้งหมด ซาลาห์ในวัย 30 ย่าง 31 ควรจะได้ลงเป็นบางเกมและมีนักเตะที่เล่นได้ในระดับเดียวกับเขาคอยลงสลับ

เช่นเดียวกับ โรเบิร์ต์สัน, เฮนเดอร์สัน,ฟาบิญโญ่,และฟีร์มิโน่ แม้คล็อปป์จะออกตัวว่าอาร์โนล์ดเพิ่งจะ 23 แต่การใช้งานเขาตั้งแต่ 19 อย่างหนักหน่วงก็ไม่ได้ทำให้เขามีความสดเหมือนเด็กหนุ่มวัย 23 เหมือนนักเตะทั่วไปแน่นอน แต่จนถึงตอนนี้คล็อปป์ยังไม่มีนักเตะคนไหนที่สามารถผ่อนการใช้งานเทรนท์ลงได้เลย

พูดให้ถึงที่สุด ผมกำลังจะบอกว่า โครงสร้างทีมที่คล็อปป์พยายามสร้างมาตลอด 7 ปีนั้นมันกำลังจะพังลงมาแล้ว และใช้งานไม่ได้อีกต่อไป มันเกินคำว่าซ่อมแซมหรือปรับปรุงไปแล้ว มันไม่ใช่บ้านเก่าที่โครงสร้างยังแข็งแรงแล้วเราสามารถรีโนเวทได้ แต่มันคือบ้านที่โครงสร้างกำลังจะพัง แม้จะดูเหมือนเดิม แต่มันร้าวไปทุกจุดแล้ว คุณอาจจะลองแก้ไป 2-3 จุด จากนั้นคุณก็รู้ได้ทันทีว่า “ต้องสร้างใหม่”

หลายคนเอาปัญหาตอนนี้ไปเทียบกับปี 2020-2021 ที่เราเสียเซ็นเตอร์แบ็กไปหมด เมื่อมองจากการที่เราเสียกองกลางไปเยอะช่วงต้นฤดูกาล แต่มันเทียบกันไม่ได้เลย ปีนั้นปัญหามันชัดเจนกว่านี้ มันเป็นจุดที่ชัดเจน แต่ปีนี้มันหามันซับซ้อนกว่านั้นมาก

ไม่มีใครรู้ว่าจะมีปัญหา จนกระทั่งปัญหามันเกิดขึ้น เราจะโทษคล็อปป์จะโทษนักเตะ จะโทษผู้บริหารไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะนี่เป็นปัญหาที่ใหม่สำหรับคล็อปป์ การทำงานเกิน 7 ปี การทำงานในปีที่ 8 แม้เราจะบอกว่ามันคือช่วงเวลาของการเปลี่ยนถ่ายและสร้างใหม่ แต่มันจะไม่เหมือนกับปีที่ 1 แน่นอน มันซับซ้อนกว่าการสร้างยุคแรกแน่ ๆ

มองแบบยุติธรรมนี่คือสิ่งที่กุนซือในโลกทุกคนต่างเคยประสบพบเจอ พวกเขาสร้างทีมใช้งานทีมที่สร้างจนประสบควมสำเร็จ จากนั้นโครงสร้างทีมก็เริ่มเปลี่ยน พวกเขาไม่สามารถประกอบสร้างมันขึ้นมาใหม่ได้ โดนปลด ย้ายออก เป็นเรื่องของวัฏจักร

มูรินโญ่สร้างทีมเชลซียุครุ่งเรืองขึ้นมาในปี 2004-2005 แต่เขาก็อยู่กับทีมชุดนี้ได้แค่ 4 ปีเท่านั้น เขาไปสร้างความยิ่งใหญ่กับอินเตอร์ 3 ปี กับมาดริดอีก 4 ปี ซีดานคุมมาดริดยิ่งใหญ่ก็ได้แค่ 4 ปี เป๊บ กวาดิโอล่า ในยุครุ่งเรืองกับบาร์เซโลน่า ก็ได้แค่ 4 ปี กับบาเยิร์นก็ 4 ปี กระทั่งเขามาลงเอยกับแมนซิตี เขาก็พาทีมยิ่งใหญ่ใน 3 ปีแรก ก่อนปีที่ 4 จะเสียแชมป์ให้หงส์แดง และได้โอกาสสร้างทีมใหม่ จนตอนนี้ผ่านเข้ามาปีที่ 7 เหมือนกัน

เราจะเห็นว่ากุนซือที่มีชื่อเสียงยิ่งใหญ่หลายคนในยุคปัจจุบัน ไม่ค่อยมีใครรอดพ้นช่วงเปลี่ยนผ่านไปได้เลย เราพูดถึงเป๊บกับแมนซิตีได้เลย เขากำลังจะก้าวผ่านมันไปได้ และนั่นคือสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกับคล็อปป์ เพียงแต่เราจะเทียบทุกอย่างที่หงส์แดงกับแมนซิตีไม่ได้ การซื้อตัว การบริหารทีม ปรัชญาทำทีมมันต่างกันเยอะ

โลกฟุตบอลถึงได้ยกย่องเซอร์อเล็กเฟอร์กูสันและอาร์แซน เวนเกอร์ เพราะเขาสามารถผ่านจุดเปลี่ยนผ่านของทีมได้ยาวนาน นับกว่า 20 ปีที่คุมแมนยูและอาร์เซน่อล ซึ่งยากที่จะหากุนซือยุคใหม่ที่ทำแบบนั้นได้ เพราะโลกปุตบอลปัจจุบันมันแข่งขันกันจน “อดทน” รอการเปลี่ยนแปลงไม่ไหว

ผมว่าหลายๆ ครั้งในการให้สัมภาษณ์คล็อปป์พยายามจะสื่อให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มันใช้เวลานะ ไม่ได้ง่ายเหมือนดีดนิ้ว และเราต้องอดทน การที่คล็อปป์ตัดสินใจต่อสัญญากับหงส์แดงออกไปถึงปี 2026 ถือว่าเป็นก้าวใหม่ที่ยิ่งใหญ่ของเขา

ยังมีอีกปัญหาที่เกี่ยวกับเลข 8 คือ หงส์แดงชุดนี้ขาดนักเตะหมายเลข 8 ไป นักเตะแดนกลางที่ทรงพลัง เป็นเอนเนอร์จี้ของทีมได้ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเฮนโด้หรือติอาโกก็ยังมีจุดที่ไปไม่ถึงในเรื่องของสภาพร่างกาย ทั้งสองคนผ่านจุดพีคของตัวเองมาแล้ว และกำลังอยู่ในจุดขาลง ฉะนั้น ภารกิจสำคัญของทีมคือการหาหมายเลข 8 แดนกลางให้เจอ ไม่ว่าจะจู๊ด เบลลิงแฮมหรือใครก็ตาม

ทีนี้ก็ต้องย้อนกลับมาถามแฟนบอลหงส์แดงและบรรดาผู้บริหารเองนั่นแหละครับ ว่าจะเข้าใจวัฏจักรนี้ไหม และพร้อมจะสนับสนุนให้คล็อปป์ทำงานของเขาต่อไปหรือไม่ หาก 1-2 ปีต่อจากนี้หงส์แดงจะกระท่อนกระแท่นเผลอ ๆ อาจจะหลุดท็อปโฟร์ ไม่ได้ไป UCL แฟนบอลรับกันได้หรือไม่ ถ้าถามผม ผมยอมรับได้ และอยากให้โอกาสคล็อปป์ทำงานเพื่อก้าวข้ามเลข 8 ของตัวเองไปให้ได้ อยากจะเห็นเขาจะพาหงส์แดงชุดนี้เปลี่ยนไปอย่างไร

การไล่โค้ชออกเป็นเรื่องง่าย และไม่มีอะไรการันตีว่าของใหม่จะดีกว่าเก่า หากคุณลองกวาดตามองไปทั่วโลก โค้ชที่ดีกว่าคล็อปป์มีสักกี่คน ที่สำคัญคือ ต่อให้เรานำโค้ชใหม่เข้ามาโอกาสที่เขาจะต้องสร้างทีมของเขาขึ้นมาใหม่ก็คงไม่ต่ำกว่า 2 ปี สู้เราเอาเวลาตรงนั้นมาให้คล็อปป์สร้างทีมใหม่ไม่ดีกว่าหรือ ยังไงซะฤดูกาลนี้ต่อให้ผลงานจะเละเทะยังไง ผมคนหนึ่งที่จะไม่มีวันจุดกระแสปลดคล็อปป์เด็ดขาด