4 การเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน เมื่อหงส์แดงใช้แผน 4-4-2

ปฏิเสธไม่ได้แล้วครับว่าตอนนี้ลิเวอร์พูลของคล็อปป์ได้ใช้ฟอร์มการเล่น 4-4-2 เป็นแกนหลักของทีมแทนที่ 4-3-3 ที่ใช่มานานกว่ากว่า 6-7 ปีแล้ว หลังจากคล็อปป์เริ่มเปลี่ยนแบบจริงจังในเกมกับเรนเจอร์สนัดแรกในแอนฟิลด์ ต่อด้วยการไปเยือนอาร์เซนอล และกลับไปเยือนเรนเจอร์ส์อีกครั้ง ก็ล้วนแต่ใช้แผน 4-4-2 เป็นหลักทั้งสิ้น

2 เกมกับเรนเจอร์สหงส์แดงทำได้ดีเพราะรวมแล้วชนะไป 9-1 ประตู ในเกมกับอาร์เซนอลการแพ้ 3-2 ยังเป็นที่ถกเถียงว่า ตกลงแล้ววันนั้นหงส์แดงเล่นได้ดีหรือแย่ เพราะมีทั้งช่วงที่เล่นดี และช่วงที่เล่นแย่ ขณะที่การเสีย 2 ประตูในครึ่งแรกก็ดูจะมีเรื่องความผิดพลาดส่วนบุคคลมาเกี่ยวข้องซะเยอะ

ถือโอกาสดีก่อนที่หงส์แดงจะเปิดบ้านรับการมาเยือนของแมนซิตีในวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้ และคาดว่าคล็อปป์ก็น่าจะยังใช้แผน 4-4-2 นี่ต่อเพื่อความต่อเนื่องของทีม เราจึงอยากจะพาแฟนหงส์ไปทบทวนดูว่า หลังจากเปลี่ยนมาเป็นแผน 4-4-2 แล้ว มันมีความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง และยังมีจุดไหนที่ลิเวอร์พูลต้องปรับอีกหรือไม่

หมดยุคเพลย์เมกเกอร์จากแบ็ก

หนึ่งในจุดเด่นที่สุดของยุค 4-3-3 นับตั้งแต่การจากไปของคูติญโญ่ก็คือ คล็อปป์ปรับเปลี่ยนสไตล์การเล่นเปลี่ยนมาใช้การสร้างสรรค์เกมรุกจากแบ็กทั้งสองข้างมากกว่ากองกลางซึ่งหน้าที่หลักเป็นคนสร้างสมดุลทั้งเกมรับและรุกให้ทีม เป็นสายซับพอร์ตคนอื่น ๆ และต้องใช้พลังงานมากกว่าตำแหน่งอื่น ๆ พอสมควร

การเติมเกมรุกของแบ็กสองข้างถือเป็นกลเม็ด เด็ดพรายของหงส์แดงที่ช่วยสร้างโอกาสในการทำประตูได้เป็นกอบเป็นกำ แบ็กสองข้างมีส่วนร่วมกับประตูของหงส์แดงทั้งแอสซิสต์และยิงประตูกันเกิน 100 ลูกแล้วตลอด 4 ฤดูกาลที่ผ่านมารวมทุกรายการ

รูปแบบการเล่นของแบ็กนั้นได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนมาเล่นระบบ 4-4-2 ประการแรก จากภาพฮีตแม็พกับไบร์ทตันและเอฟเวอร์ตัน 2 เกมสุดท้ายที่เราเล่น 4-3-3 แบ็กสองข้างเราเติมสูงเลยครึ่งสนามไป และไม่ค่อยจะได้อยู่ในแดนหรือตำแหน่งตัวเองเท่าไหร่

เมื่อเปลี่ยนมาเป็น 4-4-2 การเติมเกมรุกนั้นน้อยลงมาก เพราะในแผน 4-4-2 นั้นเรามีปีกสองข้างที่คอยเติมเกมอยู่แล้ว แบ็กสองข้างจึงแทบจะไม่ต้องเวอร์โหลดเกมรุกขึ้นไปเลย จากภาพฮีตแม็บในเกมกับอาร์เซนอลและเรนเจอร์ส สองเกมล่าสุด เราจะพบว่าแบ็กสองข้างประจำการตรงพื้นที่แดนตัวเองมากขึ้น สัดส่วนแทบจะ 50/50 โดยเฉพาะทางฝั่งอาร์โนล์ดที่เปลี่ยนมาเป็นโกเมสนั้นแทบจะไม่เติมเกมเลย

เรื่องนี้ส่งผลต่อการครอสบอลและการเปิดบอลยาวที่ลดลงอย่างชัดเจนจากแบ็กทั้งสองฝั่ง จากแผนภาพแรกในเกมกับไบร์ทตัน เราจะเห็นว่าตำแหน่งที่มีการวางบอลยาวนั้นจะมาจากฝั่งเทรนท์มากกว่า และตำแหน่งที่วางบอลยาวก็เลบครึ่งสนาม บางจังหวะก็หุบเขากลางไป

ส่วนในเกมกับอาร์เซนอลนั้น จำนวนการวางบอลยาวจากแดนหลังของระบบ 4-4-2 นั้นลดน้อยลง แต่สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือ จุดหรือตำแหน่งที่มีการวางบอลยาวจะเกิดขึ้นในฝั่งของหงส์แดงชัดเจน เทนรท์แทบจะไม่ได้เติมขึ้นไปเปิดบอลยาวในแดนของอาร์เซนอลเลย

การเปลี่ยนแปลงนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งข้อดีน่าจะเหมาะกับสถานการณ์ของหงส์แดงในตอนนี้ที่ต้องการความนิ่งและความมั่นคงของแนวรับมากกว่าต้องการการเติมเกมบุกเพื่อทำประตู ลิเวอร์พูลอาจจะเสียการสร้างสรรค์เกมจากแบ็กทั้งสองข้างที่เคยทำได้ 10-12 แอสซิสต์ต่อปี แต่ก็ทดแทนมาด้วยการที่แนวรุกทำกินกันเองได้มากขึ้น

ประเด็นสำคัญของการเปลี่ยนแปลงแผนครั้งนี้คือ สถานการณ์ของเทรนท์ต่างหาก เพราะเรารู้ดีว่าเทรนท์อันตรายและมีประโยชน์กับทีมมากที่สุดเมื่อเขาอยู่ในแดนคู่แข่ง การเล่นเกมรับในแดนของเราเองนั้นเป็นจุดอ่อนของเทรนท์ไปแล้ว และการที่เขาต้องเล่นโดยมีนักเตะคนอื่นอย่างเฮนเดอร์สันคอยประคองเสมอ นั่นก็เป็นเงื่อนไขที่เปลี่ยนไปเพราะปีนี้เฮนเดอร์สันเองก็ไม่ได้อยู่ในสภาพร่างกายที่ฟิตขนาดนั้น

แผน 4-4-2 ของคล็อปป์อาจจะกำลังบอกว่าคล็อปป์จะกลับไปใช้งานแนวรุกเพื่อทำเกมรุกเองมากขึ้น คือย้อนกลับไปตอนที่ทีมยังมีคูติญโญ่ แบ็กสองข้างต้องรักษาพื้นที่ของตัวเองให้ดี และต้องเด่นเรื่องเกมรับ เพราะเมื่อปีกทั้งสองข้างเติมเกมรุก พวกเขาต้องดันขึ้นมาปิดพื้นที่ว่างตรงนั้น มากกว่าจะดันเกมรุก จุดนี้โรเบิร์ตสันอาจปรับตัวได้ ที่น่าหนักใจคือเทรนท์นี่แหละครับ

แดนกลางระบบคู่ DMC

แบ็กสองข้างอาจจะกระทบแค่สไตล์การเล่น วิธีการเล่น แต่พวกเขายังมี 4 คน แต่สำหรับแดนกลางจะได้รับผลกระทบโดยตรงทั้งตำแหน่งการยืน วิธีการเล่น สไตล์การเล่น หน้าที่ ทุกอย่างแทบจะปรับหมดเลยสำหรับแดนกลางของหงส์แดงในระบบ 4-4-2

อย่างแรกคือเราจะมีกองกลางหายไป 1 คน อย่างที่สองคือตำแหน่งการยืนจะเน้นตรงกลางชัดเจนมากขึ้น จะไม่ได้ออกข้างไปไหนมาก จากฮีตแม๊พด้านบนมันชัดเจนคือในเกมกับไบร์ทตัน กองกลางสามคนของเรามักจะมีแนวโน้มในการโย้ไปทางที่ลิเวอร์พูลขึ้นเกมบ่อยที่สุด ในเกมนั้นเราเน้นบุกทางดิอาช ทั้งนี้เพื่อช่วยกันไล่ ปิดพื้นที่ และประคองตำแหน่งแบ็กที่บุกขึ้นไป

ที่ผ่านมาแดนกลางของหงส์แดงจะเน้นสมดุลมากกว่าหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะกองกลางซ้ายและขวาที่ต้องเป็นนักเตะประเภทพลังงาน วิ่งไม่หมด อย่างไวนาดุมกับเฮนเดอร์สัน ที่ดูเหมือนจะไม่โดดเด่นอะไร แต่ทำหนักและหลายอย่าง ใช้พลังเยอะ

ประเด็นก็คือปีนี้แดนกลางของเราโรยราลงเยอะ แผนการซื้อตัวนักเตะก็พลาดที่ไม่ซื้อใครมาเพิ่ม ไม่มีแผนสองเมื่อพลาดเป้าหมายแรก ฉะนั้นการเปลี่ยนมาเป็น กลางสองคน มันช่วยให้แดนกลางทำงานง่ายขึ้น คือ มีเป้าหมายการเล่นชัดเจนขึ้นว่าจะเล่นเกมรับเป็นพิเศษ เน้นคุมแดนกลางจริง ๆ

ตามฮีตแม๊พที่เราเห็น จะเห็นว่าหลังจากปรับมาเป็น 4-4-2 แล้ว การเคลื่อนที่ของแดนกลางจะจำกัดอยู่บริเวณหัวกะโหลกมากขึ้น แทบจะไม่ได้ออกไปชิดด้านข้างเลยนั่นเพราะมีทั้งปีกและแบ็กสองข้างคอยทำงานในพื้นที่นั้นแล้ว ทั้งในการเติมเกมรุกและการหุบมาช่วยเกมรับเป็นบางครั้ง

ดังนั้นตอนนี้อาจจะกล่าวได้ว่าหงส์แดงอาจจะต้องการกองกลางที่ทำงานเป็นชิ้นเป็นอันมากขึ้น โดยเฉพาะเกมรับ การตัดเกมคู่แข่ง การครองบอล ความแข็งแกร่งของร่างกาย การจ่ายบอลที่แม่นยำ และการวางบอลจากแนวลึกได้ดี จุดนี้แหละที่มันอาจจะกระทบกับเฮนเดอร์สันโดยตรง เพราะทีเด็ดทีขาดการจ่ายบอลเขาด้อยกว่าติอาโก ขณะที่เกมรับก็ด้อยกว่าฟาบิญโญ่

นูเญชซ่า ซาลาห์เหงา

ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าระบบ 4-4-2 นั้นถูกเซ็ตขึ้นมาเพื่อนักเตะอย่างนูเญชโดยเฉพาะ กองหน้าคู่ที่มีเขาเป็นหน้าสูง และมีหน้าต่ำคอยสนับสนุนซับพอร์ตและปีสองข้างที่จะป้อนบอลให้ สถิติบอกชัดเจนว่า 3 เกมล่าสุดที่คล็อปป์ใช้ระบบ 4-4-2 นูเญชคือนักเตะที่มีโอกาสทำประตูมากที่สุดในทีม 13 ครั้ง

นูเญชทำประตูต่อเนื่องมา 2 เกมกับอาร์เซนอลและเรนเจอร์ส นัดล่าสุด แถมยังได้รับคำชมว่าเล่นได้ดีขึ้นเรื่อย ๆ สภาพร่างกายที่แข็งแกร่งขึ้น เบียดบังบอลเก็บบอลแดนหน้าได้มากขึ้น การสิ่งทำทางตอนที่ไม่มีบอลก็ทำให้เพื่อนเล่นง่าย ดึงตัวประกบได้ไม่ต่ำกว่า 2 ตลอด ที่สำคัญคือจังหวะเข้าทำก็สร้างอันตรายและแรงกดดันใส่คู่แข่งได้ดี

ต่างจากซาลาห์ ที่นับตั้งแต่เล่น 4-4-2 มาเขาทำได้แค่ 1 ประตูในเกมกับเรนเจอร์สนัดแรกและก็เป็นประตูที่มาจากการยิงจุดโทษ สร้างอันตรายกับคู่แข่งไม่ได้เลย เพราะเขาแทบจะไม่มีพื้นที่ให้เล่น การลงมาเป็นปีกตรงกลางสนาม เขาจะต้องผ่านด่านนักเตะทั้งแต่แดนกลางลงไป บางครั้งยังมีกองหน้าอีกฝั่งคอยไล่ ทำให้สร้างสรรค์โอกาสได้

เกมกับเรนเจอร์สนัดล่าสุดที่ซาลาห์ลงมาเล่นเขาลงมาเป็นกองหน้าคู่กับโจตา และเขาก็ทำผลงานได้ดี ตอกย้ำว่าระบบ 4-4-2 ที่มีอยู่ตอนนี้ เขาก็ยังเหมาะจะอยู่ด้านหน้ามากกว่าด้านข้าง แต่ประเด็นก็คือบทบาทของเขามันจะไปทับกับนูเญช แม้ว่าแนวโน้มที่ซาลาห์จะทำประตูได้อาจจะมากกว่าก็ตาม แต่อย่างที่บอกตั้งแต่ต้นว่า 4-4-2 มันออกแบบมาเพื่อนูเญชมากกว่า

อย่างไรก็ตามนั่นเป็นเรื่องน่ายินดีมากกว่าน่าปวดหัว เพราะมันกลายเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับคล็อปป์ในการจัดผู้เล่นลงสนาม ในช่วงที่ตารางการแข่งขันมันถี่มาก ซาลาห์อาจจะได้ลงเล่นเป็นหน้าเป้าสลับกับนูเญช และคนอื่น ๆ ขณะที่คาร์วัลโญ่กับเอเลียตต์พวกเขาก็สามารถทดแทนตำแหน่งริมเส้นได้ไม่น่าเกลียด

ตำแหน่งอื่น ๆ ในแดนหน้าแทบจะไม่มีปัญหาเลย โจตากับฟีร์มิโน่เป็นตัวเลือกที่ดีมากๆ ในตำแหน่งหน้าคู่และพวกเขาทั้งจบสกอร์เองก็คม แอสซิสต์ให้เพื่อนก็แม่นยำ ขณะที่โจตานั้นสามารถถ่างไปเล่นปีกซ้ายแทนดิอาช ได้แบบไม่ติดขัดเลย 3 เกมหลังสุด แนวรุกหงส์แดงจึงพร้อมใจกันทำไป 11 ประตู

ฟีร์มิโน่ร่างทอง

ตลอดการค้าแข้งของฟีร์มิโน่ ฤดูกาล 2017-2018 ฤดูกาลแรกที่ซาลาห์มาเล่นกับทีมฤดูกาลที่โลกฟุตบอลต้องรู้จักกับ 3 ประสานของหงส์แดงอย่าง ซาลาห์ ฟีร์มิโน่ มาเน่ เพราะฤดูกาลนั้น ฟีร์มิโน่ทำประตูในลีกได้ถึง 15 ประตู กับ 7 แอสซิสต์ ใน UCL ก็ทำได้ 10 ประตูกับ 7 แอสซิสต์ ขณะที่ฟอร์มของเขาโดยเฉพาะการทำประตูนั้นลดลงเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 2019-2020 เขาไม่เคยทำประตูในลีกแตะ 10 ประตูอีกเลย

ส่วนฤดูกาลนี้เขาลงเล่นในเกมลีกไป 7 จาก 8 นัดเขาก็ยิงไปแล้ว 6 ประตูกับอีก 3 แอสซิสต์ หากนับตามค่าเฉลี่ยนี้เขาอาจจะทำประตูในฤดูกาลนี้ทะลุ 20 ประตูเลยก็ได้ นั่นอาจจะทำให้ปีนี้เป็นปีที่ดีที่สุดของเขากับหงส์แดงก็ได้เช่นกัน และการที่ทีมเล่นระบบ 4-4-2 นี่แหละที่จะทำให้มันเกิดขึ้นได้

ตลอดเวลาที่เล่น 4-3-3 โดยมีซาลาห์กับมาเน่อยู่ด้านข้าง หน้าที่หลักของฟีร์มิโน่คือการสร้างโอกาสให้สองกองหน้านี้ โดยเขาจะดรอปตัวเองลงมาช่วยเพรส ไล่บอล ล้วงบอล แล้วสร้างโอกาสให้สองกองหน้าด้านข้างที่หุบเข้ามา หลาย ๆ ครั้งแม้มีโอกาสจบประตูได้ ฟีร์มิโน่ก็เลือกจะส่งให้เพื่อนมากกว่า

แต่ปีนี้ฟีร์มิโน่เล่นเหมือนเป็นเพลย์เมกเกอร์หรือกองหน้าตัวต่ำคนหนึ่งเลย เขายังลงมาช่วยไล่บอล ล้วงบอลเสมอ แต่เขาไม่จำเป็นต้องเล่นเพื่อกองหน้าสองข้างซ้ายขวาของตัวเองอีกแล้ว ในทางตรงกันข้ามเลย ปีสองข้างในระบบ 4-4-2 ต่างหากที่ต้องทำหน้าที่สนับสนุนการเล่นของฟีร์มิโน่

ตั้งแต่เปลี่ยนมาเป็น 4-4-2 ฟีร์มิโน่ทำได้ 3 ประตูกับ 1 แอสซิสต์หากสังเกตการเข้าทำจะเห็นว่า สองประตูที่เพิ่งทำได้มาจากการเปิดให้ของแบ็กทั้งสองข้างจากซิมิกาสลูกเตะมุมและจากโกเมสในจังหวะโอเพ่นเพลย์ แสดงให้เห็นว่าฟีร์มิโน่สามารถพาตัวเองเข้าไปถึงพื้นที่สุดท้ายได้มากมากขึ้น

ส่วนประตูกับอาร์เซนอลนั้นเขาได้รับการสนับสนุนจากปีกซ้ายอย่างโจตาในการแทงบอลทะลุช่องให้ยิง โดยที่เขาแทบจะไม่ต้องมองหาหรือสร้างโอกาสให้ใครต่อเลย ส่วนอีก 1 แอสซิสต์ก็เป็นการประสานงานระหว่างเขากับปีกซ้ายอย่างคาร์วัลโญ่ก่อนจะไปจบที่นูเญช

ขณะที่การเล่นของนูเญชก็ไม่ใช่สไตล์หน้าเป้าจ๋าที่รอให้เพื่อนป้อนบอลมาอย่างเดียว เขาเป็นสไตล์วิ่งหาช่อง ทำลายแนวรับของคู่แข่งด้วย ถ่างออกข้างด้วย โอกาสที่ฟีร์มิน่จะสลับเข้าไปในเขตโทษก็มากขึ้นอย่างที่เห็น โดยสรุปคือ การเล่น 4-4-2 ทำให้ฟีร์มิโน่ได้รับอนุญาตให้เป็นตัวจบสกอร์มากขึ้น